กัญชา เป็นพืชที่ออกฤทธิ์ทางประสาท มีสารออกฤทธิ์สำคัญ คือ เตตราไฮโดรแคนนาบินอล (Tetrahydrocannabinol, THC) ซึ่งมีฤทธิ์ต่อสมอง ควบคุมความคิด อารมณ์ และพฤติกรรมของผู้เสพ ทำให้ผู้เสพมีอาการคล้ายเมาเหล้า เมื่อเสพจะต้องการปริมาณที่มากขึ้น ทำให้ความคิดอ่านช้า และสับสน ประสาทหลอน โดยเฉพาะการเสพกัญชาด้วยการสูบเพียง 4 มวน เท่ากับสูบบุหรี่ 20 มวน (1 ซอง) เสี่ยงเป็นมะเร็งปอดมากกว่าสูบบุหรี่ถึง 5 เท่า
“กัญชา” ถูกควบคุมตามพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ. 2522 ซึ่งกำหนดให้กัญชา เป็นยาเสพติดให้โทษในประเภท 5 เช่นเดียวกับพืชกระท่อม พืชฝิ่น

ยาเสพติดให้โทษแบ่งออกเป็น 5 ประเภท
- ประเภท 1 ยาเสพติดให้โทษชนิดร้ายแรง เช่น เฮโรอีน, แอมเฟตามีน ,แมทแอมเฟตามีน, เอ็กซ์ตาซี และแอลเอสดี
- ประเภท 2 ยาเสพติดให้โทษทั่วไป เช่น มอร์ฟีน, โคคาอีน, โคเดอีน และฝิ่นยา
- ประเภท 3 ยาเสพติดให้โทษที่มีลักษณะเป็นตำรับยา และมียาเสพติดให้โทษในประเภท 2 ผสมอยู่ด้วย คือ ยารักษาโรคที่มียาเสพติด ประเภท 2 เป็นส่วนประกอบอยู่ในสูตร เช่น ยาแก้ไอ ยาแก้ท้องเสีย
- ประเภท 4 สารเคมีที่ใช้ในการผลิตยาเสพติดให้โทษประเภท 1 หรือประเภท 2 เช่น อาเซติคแอนไฮไดรด์ และอาเซติลคลอไรด์
- ประเภท 5 ยาเสพติดให้โทษที่มิได้เข้าอยู่ในประเภท 1 ถึงประเภท 4 เช่น กัญชา พืชกระท่อม

ความผิดและบทลงโทษเกี่ยวกับกัญชา
พระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ. 2522 กำหนดการกระทำความผิดและบทลงโทษเกี่ยวกับกัญชา ดังนี้
- ห้ามมิให้ผู้ใดผลิต จำหน่าย นำเข้า ส่งออก หรือมีไว้ในครอบครองซึ่งยาเสพติดให้โทษในประเภท 4 หรือในประเภท 5 เว้นแต่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขจะได้อนุญาต โดยการเสนอแนะของคณะกรรมการควบคุมยาเสพติดให้โทษเป็นราย ๆ ไป ตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขที่กำหนดในกฎกระทรวง
- ห้ามมิให้ผู้ใดเสพยาเสพติดให้โทษในประเภท 1 หรือในประเภท 5

ข้อหาและโทษทางอาญาในความผิดเกี่ยวกับกัญชา
- ผลิต นำเข้า หรือส่งออก มีโทษจำคุกตั้งแต่ 2 – 15 ปี หรือปรับตั้งแต่ 200,000 – 1,500,000 บาท (มาตรา 75 วรรค 1)
- จำหน่าย หรือมีไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่าย
- จำนวนไม่ถึง 10 กิโลกรัม มีโทษจำคุกตั้งแต่ 2 – 10 ปี หรือปรับตั้งแต่ 40,000 – 200,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ (มาตรา 76/1 วรรค 1)
- จำนวนตั้งแต่ 10 กิโลกรัมขึ้นไป ต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่ 2 – 15 ปี และปรับตั้งแต่ 200,000 – 1,500,000 บาท (มาตรา 76/1 วรรค 2)
- ครอบครอง มีโทษจำคุกไม่เกิน 5 ปี หรือปรับไม่เกิน 100,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ (มาตรา 76 วรรค 1)
- เสพ มีโทษจำคุกไม่เกิน 1 ปี หรือปรับไม่เกิน 20,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ (มาตรา 92 วรรค 1)

อย่างไรก็ตาม หากนักวิชาการต้องการวิจัยกัญชาเพื่อการพัฒนาองค์ความรู้ ก็สามารถกระทำได้ โดยขออนุญาตจากรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ภายใต้หลักเกณฑ์ในกฎกระทรวงการขออนุญาตและการอนุญาตผลิต จำหน่าย หรือมีไว้ครอบครองซึ่งยาเสพติดให้โทษในประเภท 4 หรือในประเภท 5พ.ศ. 2559 ซึ่งมีผลใช้บังคับแล้ว แต่การเสพกัญชา กฎหมายห้ามเด็ดขาด ไม่อนุญาตให้เสพได้ ไม่ว่าเพื่อวัตถุประสงค์ทางการแพทย์หรือไม่ ด้วยเหตุนี้ รัฐบาลจึงจัดตั้งคณะกรรมการพิจารณาการนำกัญชา มาใช้ทางการแพทย์ ภายใต้คำสั่งกระทรวงสาธารณสุข ที่ 570/2561 เพื่อร่วมกันหาวิธีการดำเนินการนำกัญชามาใช้ทางการแพทย์ที่เหมาะสม มีประสิทธิภาพ และเป็นระบบ
หากประชาชนทั่วไปมีความประสงค์ที่จะปลูก กัญชา เพื่อใช้สารสกัดกัญชาในทางการแพ้ หรือการปลูกเพื่อการพาณิชย์ แแนะนำให้ให้ศึกษา กฎหมายเกี่ยวกับกัญชาเพิ่มเติม เพื่อป้องกันการทำผิดกฎหมายโดยไม่รู้ตัว