ตำรับยาแผนไทย 16 ตำรับ มีกัญชาผสมรักษาโรค นานกว่าศตวรรษ

ตำรับยาไทย 16 ตำรับ มีกัญชาผสมรักษาโรค
ตำรับยาไทย 16 ตำรับ มีกัญชาผสมรักษาโรค

การแพทย์แผนไทย องค์ความรู้ตั้งแต่สมัยโบราณแสดงให้เห็นว่าไม่ได้ล้าหลังหรือน้อยหน้าไปกว่าแพทย์แผนปัจจุบัน การใช้กัญชาเพื่อการรักษาทางการแพทย์แผนไทยมีมานาน

เมื่อวันที่ 12 เม.ย.มีรายงานว่า ราชกิจจานุเบกษาเผยแพร่ประกาศกระทรวงสาธารณสุข เรื่องกำหนดตำรับยาเสพติดให้โทษในประเภท 5 ที่มีกัญชาปรุงผสมอยู่ ที่ให้เสพเพื่อรักษาโรคหรือการศึกษาวิจัยได้ พ.ศ.2562 เมื่อวันที่ 11 เม.ย.ที่ผ่านมา โดยระบุว่า โดยที่เป็นการสมควรกำหนดตำรับยาเสพติดให้โทษในประเภท 5 ที่มีกัญชาปรุงผสมอยู่ที่ให้เสพเพื่อการรักษาโรคหรือการศึกษาวิจัยได้ เพื่อให้เป็นไปตามหลักวิชาการ มีคุณภาพตามมาตรฐานที่กำหนด และนำไปใช้ประโยชน์ในทางการแพทย์ของประเทศ อาศัยอำนาจตามความในมาตรา 58 วรรคสอง แห่งพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ.2522 ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ (ฉบับที่7) พ.ศ.2562 รมว.สาธารณสุขออกประกาศตำรับยาแผนไทยที่มีกัญชาปรุงผสมอยู่ในตำราการแพทย์แผนไทย โดยคำแนะนำของกรมการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือกและสภาการแพทย์แผนไทย ตามบัญชีรายชื่อแนบท้ายประกาศฉบับนี้ โดยเป็นตำรับยาที่ได้รับอนุญาตให้ผลิตในประเทศ ภายใต้การรักษาโรคกรณีจำเป็นสำหรับผู้ป่วยเฉพาะราย และเป็นตำรับยาที่ได้รับอนุญาตภายใต้โครงการศึกษาวิจัย ที่ได้รับอนุญาตจากสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) ตำรับยาที่หมอพื้นบ้านปรุงขึ้นจากองค์ความรู้ และภูมิปัญญาการแพทย์แผนไทยที่ชัดเจน และได้รับการรับรองจากกรมการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก ทั้งนี้ วัตถุดิบจากกัญชาต้องไม่สามารถแยกเป็นช่อดอก ใบ เพื่อนำไปใช้ในทางที่ผิดได้ ประกาศนี้ให้ใช้บังคับตั้งแต่วันถัดจากวันประกาศในราชกิจจานุเบกษาเป็นต้นไป

กรมการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก ได้เผยแพร่ที่มาของ ตำรับยาไทยโบราณที่มีกัญชาผสม สู่การใช้ประโยชน์ทางการแพทย์ในปัจจุบัน จากตำรับยาไทยกว่า 26,000 ตำรับ มีตำรับยาที่มีกัญชาปรุงผสมอยู่ 200 ตำรับ มีตำรับยาที่ผ่านการพิจราณา และตรวจสอบความซ้ำซ้อนเหลือ 90 ตำรับ จากการประชุมผู้ทรงคุณวุฒิรับฟังความคิดเห็นผ่านทางเว็บไซต์ และจัดเวทีประชาพิจารณ์เมื่อวันที่ 18 มกราคม 2562 ได้จัดแบ่งตำรับยาแผนไทยที่มีกัญชาปรุงผสมออกเป็น 4 กลุ่ม

ตำรับยาแผนไทยที่มีกัญชาปรุงผสม 4 กลุ่ม

ตำรับยาแผนไทย กลุ่ม ก

ตำรับยาตามองค์ความรู้ทางการแพทย์แผนไทย ตัวยาหาง่าย ไม่เป็นอันตราย จำนวน 16 ตำรับ

ตำรับยาแผนไทย กลุ่ม ข

ตำรับยามีวิธีการผลิตไม่ชัดเจน และมีตัวยาหายาก จำนวน 11 ตำรับ

ตำรับยาแผนไทย กลุ่ม ค

ตำรามีกัญชาค่อนข้างน้อย จำนวน 32 ตำรับ

ตำรับยาแผนไทย กลุ่ม ง

ตำรับยามีส่วนประกอบของตัวยาตามที่กฎหมายประกาศห้ามใช้ จำนวน 32 ตำรับ

ยาแผนไทย 16 ตำรับ(กลุ่ม ก) ที่มีกัญชาเป็นส่วนผสมและสรรพคุณ

1. ยาน้ำมันสนั่นไตรภพ
สรรพคุณยา บรรเทาอาการเจ็บปวดท้องแข็ง ลามไปถึงยอดอก กินอาหารไม่ได้
2. ยาอัคคินีวคณะ
สรรพคุณยา แก้คลื่นเหียนอาเจียน เจริญอาหาร บำรุงกำลัง
3. ยาแก้ลมขึ้นเบื้องสูง
สรรพคุณยา บรรเทาอาการปวดศีรษะ ตาแดง หูตาฝ้าฟาง หูอื้อ อ่อนเพลีย สวิงสวาย
4. ยาศุขไสยาศน์
สรรพคุณยา ช่วยให้นอนหลับเจริญอาหาร
5. ยาไฟอาวุธ
สรรพคุณยา แก้ลมจุกเสียด ปวดมวนท้อง
6. ยาแก้ลมเนาวนารีวาโย
สรรพคุณยา แก้อาการตึงบริเวณปลายมอปลายเท้า หันหรือเอี้ยวคอไม่ได้
7. ยาแก้สัณฑฆาต กล่อนแห้ง
สรรพคุณยา บรรเทาอาการท้องผูก ปวดเมื่อตามร่างกายขับลม
8. ยาแก้นอนไม่หลับ / ยาแก้ไขผอมเหลือง
สรรพคุณยา แก้นอนไม่หลับ แก้ไขผอมเหลือง มีอาการตัวสั่น เสียงสั่น อ่อนเพลีย ไม่มีกำลัง
9. ยาแก้โรคจิต
สรรพคุณยา ลดความกังวล ความเครียด ช่วยให้นอนหลับ **โรคจิต ตามตำราแผนไทย
10. ยาอัมฤตโอสถ
สรรพคุณยา บรรเทาอาการตึงกล้ามเนื้อ เส้นเอ็น มือ เท้าชา ผอมแห้งแรงน้อย จากความเสื่อมของร่างกาย
11. ยาไพสาลี
สรรพคุณยา บรรเทาอาการจุกเสียด แน่นเฟ้อ ขับลม ช่วยให้หลับสบาย
12. ยาอไภยสาลี
สรรพคุณยา ช่วยขับลม บรรเทาอาการจุกเสียด แน่นเฟ้อ
13. ยาทำลายพระสุเมรุ
สรรพคุณยา บรรเทาอาการแข็งแกร่งของกล้ามเนื้อ แขนขาอ่อนแรง และอาการชาในผู้ป่วยอัมพฤกษ์ อัมพาต
14. ยาแก้ลมแก้เส้น
สรรพคุณยา บรรเทาอาการปวดตึงกล้ามเนื้อ ลดอาการมือเท้า ชา อ่อนกำลัง
15. ยาทัพยาธิคุณ
สรรพคุณยา แก้จุกเสียดท้องแข็งเป็นเถาดาน อาการอัมพฤกษ์ เสียงแหบแห้ง ปวดเมื่อยร่างกาย นอนไม่หลับ
16. ยาทาริดสีดวงทวารหนักและโรคผิวหนัง
สรรพคุณยา ทารักษาริดสีดวงทวารหนัก และทารักษาโรคผิวหนัง
ติดต่อสอบถามข้อมูลเพิ่มเติม:
สำนักงานจัดการกัญชาและกระท่อมทางการแพทย์แผนไทย
โทรศัพท์: 02149 5647, 02591 7007 ต่อ 2301
อีเมลล์: cannabis.dtam@gmal.com

*ที่มา: กรมการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก