วัคซีน (Vaccine) กระตุ้นให้ร่างกายสร้างภูมิคุ้มกันโรค
วัคซีน (vaccine) เป็นชีววัตถุที่จัดเตรียมขึ้นจากเชื้อจุลินทรีย์หรือส่วนของเชื้อจุลินทรีย์ซึ่งจะมีกลไกชักนำให้ร่างกายของเราสร้างภูมิคุ้มกันที่จำเพาะต่อจุลินทรีย์ชนิดนั้น ๆ กล่าวคือ วัคซีนมีฤทธิ์ชักนำการสร้างภูมิคุ้มกันอันจำเพาะกับโรค วัคซีนโดยทั่วไปจะประกอบด้วยส่วนประกอบของจุลินทรีย์ที่เป็นสาเหตุของโรค (แอนติเจน) ซึ่งถูกทำให้เชื้ออ่อนฤทธิ์ลง, ทำให้เชื้อตาย หรือการใช้ส่วนที่เป็นพิษที่อ่อนฤทธิ์ลง (toxoid) โดยวัคซีนจะกระตุ้นระบบภูมิคุ้มกันของร่างกายและสามารถจดจำได้ว่าเป็นสารก่อโรคซึ่งจะมีกลไกการทำลายต่อไป คุณสมบัติการจดจำแอนติเจนของระบบภูมิคุ้มกันของร่างกายจะทำให้ร่างกายสามารถกำจัดแอนติเจนนั้นๆ เมื่อได้รับอีกในภายหลังได้รวดเร็วขึ้น
วัคซีนระยะเริ่มแรก เป็นการนำเชื้อมาทำให้ตาย(เชื้อตาย) หรือการใช้เชื้อที่อ่อนฤทธิ์เท่านั้น จนกระทั่งปัจจุบันมีการพัฒนาโดยนำเทคโนโลยีรีคอมบีแนนต์มาช่วยในการพัฒนาโดยอาศัยความรู้ทางชีววิทยาระดับโมเลกุล และมีความพยายามพัฒนาวัคซีนโดยการสังเคราะห์แอนติเจนในการผลิตซับยูนิตวัคซีน (subunit vaccine) อีกด้วย
วัคซีน คืออะไร
วัคซีน (Vaccine) คือ สารชนิดหนึ่งที่ฉีดเข้าสู่ร่างกาย เพื่อกระตุ้นให้ร่างกายสร้างภูมิคุ้มกันโรค ในวัคซีนมีเชื้อโรคที่ไม่ทำให้เกิดโรค ได้มาจากส่วนประกอบของเชื้อโรค เชื้อโรคที่ตาย หรืออ่อนฤทธิ์แล้ว เมื่อร่างกายได้รับวัคซีน ก็จะมีคู่ซ้อมในการสร้างภูมิคุ้มกันโรค
เนื่องจากเชื้อโรคในวัคซีน ไม่ใช่เชื้อโรคจริง เม็ดเลือดขาวจะเสมือนได้ซ้อมต่อสู้กับเชื้อโรค หากเกิดการติดเชื้อโรคจริง ๆ ขึ้นมา เม็ดเลือดขาวที่เคยผ่านการต่อสู้มาแล้ว ก็จะชนะเชื้อโรคได้ ภูมิคุ้มกันจะจดจำการต่อสู้กับเชื้อโรคนั้น หากร่างกายได้รับเชื้อโรคชนิดเดิมซ้ำอีก มันจะถูกกำจัดอย่างรวดเร็ว เป็นการช่วยลดความร้ายแรง และลดอาการป่วยหนักจากโรค
วัคซีนไม่ใช่สารที่มีภูมิคุ้มกันโรค ความจริงแล้ว วัคซีนเป็นสารที่มีเชื้อโรคที่ไม่อันตรายต่อร่างกาย ซึ่งจะเข้าไปช่วยกระตุ้นให้ร่างกายสร้างภูมิคุ้มกันเฉพาะต่อเชื้อโรคนั้น ๆ
วัคซีนพื้นฐานเพื่อประชาชนสุขภาพดีถ้วนหน้า
กระทรวงสาธารณสุขได้กำหนดบริการวัคซีนพื้นฐานที่เด็กไทยทุกคนควรได้รับ โดยเน้นวัคซีนป้องกันโรคที่เป็นปัญหาสำคัญ ซึ่งในปัจจุบันประกอบด้วยวัคซีน 8 ชนิด ได้แก่ วัคซีนวัณโรค (BCG) วัคซีนตับอักเสบบี (HB)วัคซีนรวมคอตีบ-บาดทะยัก-ไอกรน-ตับอักเสบบี (DTP-HB) วัคซีนโปลิโอ (OPV) วัคซีนรวมหัด-คางทูม-หัดเยอรมัน(MMR) วัคซีนไข้สมองอักเสบเจอี (JE) วัคซีนคอตีบ-บาดทะยัก-ไอกรน (DTP) และวัคซีนคอตีบ-บาดทะยัก (dT)
วัคซีน ควรฉีดให้ใคร ?
ใครควรรับวัคซีน ? วัคซีนกลายเป็นสิ่งจำเป็นสำหรับทุกคนตั้งแต่มีการคิดค้นวัคซีนขึ้น เพื่อการดำรงชีวิตของเราตั้งแต่แรกเกิดจนถึงผู้สูงอายุ ทุกช่วงอายุมความจำเป็นในการรับวัคซีนทั้งสิ้น ตั้งแต่วัคซีนพื้นฐาน วัคซีนทางเลือก วัคซีนสำหรับผู้เดินทางต่างประเทศ วัคซีนไม่เพียงแค่ฉีดใหม่เท่านั้น แต่เป็นการฉีดกระตุ้นภูมิที่ลดลงด้วย อาจมีการฉีดกระตุ้นภูมิซ้ำทุกๆปี สำหรับวัคซีนป้องกันไข้หวัดใหญ่ หรือวัคซีนป้องกันบาดทะยักที่ฉีดกระตุ้นภูมิทุกๆ 10 ปี
- เด็กทารกแรกเกิด เด็กเล็ก
- เด็กนักเรียน และวันรุ่น
- สตรีมีครรภ์
- ผู้ใหญ่ คนวัยทำงาน
- ผู้สูงอายุ
- ผู้ที่ต้องทำงาน หรือรักษาผู้ป่วย อย่างใกล้ชิด
- ผู้ที่ทำอาชีพที่ต้องพบปะชาวต่างชาติจำนวนมากเป็นต้น
วัคซีน มีกี่ประเภท
ปัจจุบันมีการออกแบบวัคซีน 3 ประเภท ดังนี้
1.วัคซีนจากการใช้เชื้อทั้งตัวมาทำวัคซีน (เชื้อไวรัสหรือแบคทีเรีย)
วัคซีนชนิดนี้สามารถแบ่งย่อยเป็น 3 ประเภท
1.1. วัคซีนเชื้อตาย (Inactivated Vaccine หรือ Killed Vaccine) นำเชื้อโรคมาทำให้ตายด้วยสารเคมี ความร้อน หรือรังสี ตัวอย่างเช่น วัคซีนไข้หวัดใหญ่ วัคซีนโปลิโอ วัคซีนกลุ่มนี้ต้องฉีด 2-3 โดส และต้องใช้เวลานานกว่าระดับภูมิคุ้มกันจะขึ้น
วัคซีนโควิดที่ใช้เทคนิคนี้ ได้แก่
- วัคซีนโควิด ซิโนแวค (Sinovac Vaccine) หรือชื่ออย่างเป็นทางการว่า “วัคซีนโคโรนาแวค (CoronaVac)”
- วัคซีนโควิด ซิโนฟาร์ม (Shinopharm Vaccine)
1.2. วัคซีนเชื้ออ่อนแรง(Live-attenuated Vaccine) นำเชื้อโรคมาทำให้อ่อนแรง แต่เชื้อนั้นยังไม่ตาย ตัวอย่างเช่น วัคซีนหัดเยอรมัน วัคซีนคางทูม วัคซีนกลุ่มนี้ไม่เหมาะกับผู้ที่มีปัญหาเกี่ยวกับระบบภูมิคุ้มกัน
1.3. วัคซีนที่อาศัยไวรัสชนิดอื่นเป็นตัวนำส่งชิ้นส่วนโปรตีนของเชื้อโรค (Viral Vector Vaccine) ตัวอย่างเช่น วัคซีนอีโบลา วัคซีนกลุ่มนี้ทำให้เกิดภูมิคุ้มกันได้โดยไม่ป่วย แต่ต้องมีเทคโนโลยีเฉพาะในการสร้างไวรัสลูกผสมขึ้นในห้องปฏิบัติการ ใช้ไวรัสที่ไม่เพิ่มจำนวนเป็นพาหะของยีนสไปค์ไปรตีน (Recombinant Adenovirus Vector)
วัคซีนโควิดที่ใช้เทคนิคนี้ ได้แก่
- วัคซีนโควิด แอสตราเซเนกา (AstraZeneca Vaccine)
- วัคซีนโควิด สปุตนิกวี (Sputnik V Vaccine)
2. วัคซีนจากการใช้ส่วนใดส่วนหนึ่งของเชื้อโรคที่สามารถกระตุ้นให้เกิดภูมิคุ้มกันได้ (Subunit Approach)
โดยการสร้างชิ้นส่วนจำเพาะของเชื้อไวรัสหรือแบคทีเรีย ไม่จำเป็นต้องใช้เชื้อทั้งตัวและไม่ต้องอาศัยไวรัสตัวอื่น เพื่อสร้างโปรตีนหรือน้ำตาลที่เป็นส่วนประกอบของเชื้อนำมาฉีดวัคซีน ส่วนใหญ่เทคนิคนี้ใช้ผลิตวัคซีนสำหรับเด็ก ตัวอย่างเช่น วัคซีนบาดทะยัก ไอกรน คอตีบ นับเป็นวัคซีนที่มีความปลอดภัยสูง
วัคซีนโควิดที่ใช้เทคนิคนี้ ได้แก่
- วัคซีนโควิด โนวาแวกซ์ (Novavax Vaccine)
- วัคซีนโควิด นาโนโคแวกซ์ (Nano Covax Vaccine)
- วัคซีนโควิด ใบยา (Baiya Vaccine)
3. วัคซีนจากการใช้สารพันธุกรรมของเชื้อโรค (Nucleic Acid Vaccine)
ใช้ส่วนของสารพันธุกรรมของเชื้อโรคที่ควบคุมคำสั่งการสร้างโปรตีนบางอย่างอาจเป็น DNA หรือ RNA ที่เชื้อโรคนั้นๆ ใช้สร้างโปรตีน โดยถ้าเป็น DNA จะเปลี่ยนให้เป็น mRNA ก่อน ใช้ชั้นไขมันของเซลล์ (Lipid Nanoparticles) เป็นเปลือกหุ้ม mRNA ของยีนสไปค์โปรตีน
วัคซีนโควิดที่ใช้เทคนิคนี้ ได้แก่
- วัคซีนโควิด ไฟเซอร์ (Pfizer Vaccine)
- วัคซีนโควิด โมเดอร์นา (Moderna COVID-19 Vaccine)
วัคซีนโควิด-19 (COVID-19 Vaccine) มีวัคซีนอะไรบ้าง
อัพเดทวัคซีนป้องกันโควิด-19
- วัคซีนโควิด ซิโนแวค (Sinovac COVID-19 Vaccine) หรือ วัคซีนโคโรนาแวค (CoronaVac Vaccine)
- วัคซีนโควิด ซิโนฟาร์ม (Shinopharm COVID-19 Vaccine)
- วัคซีนโควิด แอสตราเซเนกา (AstraZeneca COVID-19 Vaccine)
- วัคซีนโควิด สปุตนิกวี (Sputnik V COVID-19 Vaccine)
- วัคซีนโควิด โนวาแวกซ์ (Novavax COVID-19 Vaccine)
- วัคซีนโควิด นาโนโคแวกซ์ (Nano Covax COVID-19 Vaccine)
- วัคซีนโควิด ใบยา (Baiya COVID-19 Vaccine)
- วัคซีนโควิด ไฟเซอร์ (Pfizer COVID-19 Vaccine)
- วัคซีนโควิด โมเดอร์นา (Moderna COVID-19 Vaccine)
*ที่มาข้อมูล:
- เว็บไซต์ศูนย์การแพทย์กาญจนาภิเษก มหาวิทยาลัยมหิดล
- เว็บไซต์องค์การอนามัยโลก (WHO)
- เว็บไซต์กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข
ตอบกลับ